คดีกู้ยืมเงิน ปรึกษา ทนายณัฐวุฒิ โทร 0988275510

คดีกู้ยืมเงิน

คดีกู้ยืมเงินเป็นคดีอีกประเภทหนึ่งที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมากมีสถิติคดีอยู่ในระดับอัตราที่สูง หากมองอย่างผิวเผินเหมือนเป็นคดีที่ไม่มีความยุ่งยากอะไรแต่แท้จริงแล้วคดีกู้ยืมเป็นคดีที่มีความสำคัญ และมีปัญหาในทางปฏิบัติพอสมควร เช่นการกู้เงินนอกระบบ การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การกู้ยืมโดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืม การทำสัญญากู้ยืมเงินอำพรางนิติกรรมอื่น การแก้ไขตัวเลขในสัญญาเงินกู้ การกู้เงินโดยผู้กู้ลงชื่อในกระดาษเปล่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทขัดแย้งกันในทางคดีความประเภทนี้มากขึ้น ดังนั้นเรื่องของการกู้ยืมเงินจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาทำความเข้าใจ

การกู้ยืมเงิน คือ สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองซึ่ง "ผู้กู้" ได้ขอยืมเงินจาก "ผู้ให้กู้" ไปจำนวนหนึ่ง เพื่อผู้กู้จะได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้สอยตามที่ประสงค์ และผู้กู้ตกลงว่าจะคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ให้กู้ตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ตามอัตราที่ตกลงกันไว้เป็นการตอบแทน

ทั้งนี้การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แสดงข้อความว่าได้มีการกู้เงินกันจริงและลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ (ประมวลกฎหมายเเพ่งมาตรา 653)

ประเด็นหลักฐานในการกู้ยืมเงิน

กรณีทำสัญญากู้กันภายหลังใช้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2528

หลักฐานเป็นหนังสือนั้นไม่จำเป็นต้องมีในขณะกู้ยืมกัน แม้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือในภายหลัง แต่ก่อนฟ้องคดีก็เป็นอันใช้ได้

กรณีลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 644/2509

บันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนที่มีข้อความชัดแจ้งว่า จำเลยรับรองว่าได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไปจำนวนเท่านั้นเท่านี้จริง และจำเลยได้ลงชื่อไว้ท้ายบันทึกนั้นด้วย แม้จะเป็นเรื่องพนักงานสอบสวนเรียกไปไกล่เกลี่ยในทางอาญาก็ตาม ก็ใช้บันทึกนั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้

กรณีทำสัญญาเงินกู้สูญหาย ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือนำสืบพยานบุคคลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 204/2539

การนำสืบว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือสูญหายไปนั้นโจทก์นำสืบด้วยพยานบุคคลได้ เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ส่วนการนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สูญหายไปต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบได้ตลอดทั้งเรื่อง ถือว่าได้อนุญาตโดยปริยาย การสืบพยานของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2)

สัญญากู้ไม่ระบุวันที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระเงินกู้ เเละอัตราดอกเบี้ยไว้ ฟ้องได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1883/2551

ป.พ.พ. มาตา 653 วรรคหนึ่ง บังคับให้ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้โดยไม่จำเป็นว่าหลักฐานเป็นหนังสือนั้นต้องระบุวันเดือนปีที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ครบกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ยไว้
ในวันทำสัญญากู้เงิน ย. ผู้เขียนสัญญาได้กรอกจำนวนเงินที่กู้ตรงตามจำนวนที่โจทก์จำเลยตกลงกัน และจำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ โจทก์จึงนำสัญญากู้เงินมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนการกรอกข้อความอื่นๆ แม้จะกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือจะไม่ระบุไว้เลย ก็ไม่มีผลทำให้หลักฐานการฟ้องร้องที่สมบูรณ์อยู่แล้วและบังคับคับแก่จำเลยได้นั้นเสียไป สัญญากู้เงินจึงไม่ใช่เอกสารปลอม

หลักฐานการกู้ยืมเงินทางอิเลคทรอนิคส์ (เเชทยืมเงิน) ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือฟ้องร้องได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6757/2560

ข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทาง Facebook มีใจความว่า “เงินทั้งหมดจำนวน 670,000 บาทนั้น จำเลยไม่ต้องส่งคืนให้แก่โจทก์แล้ว และไม่ต้องส่งดอกเบี้ยอะไรมาให้อีก โจทก์ยกให้ทั้งหมด จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว” การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ. ศ. 2544 มาใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 7 ได้บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และมาตรา 8 บัญญัติว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทาง Facebook แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความของโจทก์ทาง Facebook ก็จะปรากฏชื่อของผู้ส่งด้วยและโจทก์เองก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความทาง Facebook ถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมจึงระงับ ฝ่ายโจทก์ไม่อาจยกเหตุว่าโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้แก่จำเลยแต่ได้กระทำไปเพราะความเครียดและต้องการประชดประชันจำเลยขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในของโจทก์

ประเด็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
 
โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ ศาลให้นำเงินที่จำเลยส่งดอกเบี้ยไปตัดเงินต้น
 
พิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560

โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

ประเด็นโจทก์แก้ไขตัวเลขในสัญญาเงินกู้ภายหลังทำสัญญา ถือว่าสัญญาเดิมไม่เสียไป จำเลยรับผิดตามที่กู้ไปจริง
 
พิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2552
 
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง
 
ประเด็นสัญญากู้ยืมเงินยังไม่กรอกข้อความหรือจำนวนเงินที่กู้ เเต่ผู้กู้ลงชื่อไว้ในสัญญาเปล่า หากกรอกตัวเลขไม่ตรงกับที่กู้ไปจริงถือว่าเป็นเอกสารปลอม
 
พิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2548
 
จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 10,000 บาท และได้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบไว้ให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินในหนังสือสัญญากู้เงินว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 300,000 บาท โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมด้วยสัญญากู้เงินตามฟ้องจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงไม่อาจอ้างเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง 
 
พิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2548 

จำเลยเขียนวันที่ ชื่อและที่อยู่ของจำเลย กับลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้แล้วมอบไว้แก่โจทก์ เมื่อมีการกรอกข้อความอื่นๆ รวมทั้งจำนวนเงินกู้ลงในสัญญากู้ในภายหลังโดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญากู้ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอมและถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะฟ้องบังคับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ประเด็นสัญญาเงินกู้ไม่ลงดอกเบี้ยคิดดอกเบี้ยได้ไหม คิดดอกเบี้ยนับเเต่วันทำสัญญาไม่ได้ เเต่คิดดอกเบี้ยได้ตั้งเเต่วันฟ้อง

พิพากษาศาลฎีกาที่ 5442/2551

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาจึงได้ทำหลักฐานการกู้ยืมเงินมอบให้โจทก์ไว้ หลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ปรากฏข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ย การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุกเดือนจึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันทำสัญญาไม่ได้ อย่างไรก็ตามการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องและจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ต้องถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ครบถ้วน

ประเด็นจำเลยรับเงินไปจริงน้อยกว่าในสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบสู้ได้ 

พิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2540

สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความระบุชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงิน80,000 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญา การที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน 80,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เนื่องจากโจทก์นำหนี้เงินกู้เดิม 10,000 บาทรวมกับยอดหนี้เงินกู้ใหม่ 13,000 บาท แล้วโจทก์คิดต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท โดยให้จำเลยผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน เป็นการนำสืบว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)แต่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 94 วรรคท้าย จำเลยย่อมนำสืบได้ จำเลยกู้เงินโจทก์ 23,000 บาท มิใช่ 80,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงิน และโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยนำต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 70,000 บาท แล้วให้จำเลยชำระเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 70 เดือน เมื่อคำนวณแล้วได้เป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ

พิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2513

ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินและรับเงินกู้ไปจากโจทก์ แล้วโจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อเชื่อสิ่งของบ้าง ยืมเงินก่อนวันทำสัญญากู้บ้างยืมในวันทำสัญญากู้บ้าง แล้วรวมทำเป็นสัญญากู้เงินจำนวนตามฟ้องดังนี้ เป็นการนำสืบถึงความเป็นมาแห่งหนี้ตามสัญญากู้ ไม่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารสัญญากู้ และไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น

ประเด็นทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งมีมูลหนี้มาจากหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น หนี้การพนัน หนี้จ่ายเงินเพื่อวิ่งเต้นเข้ารับราชการ หนี้ตกเป็นโมฆะ

พิพากษาศาลฎีกาที่ 6023/2561

คดีนี้โจทก์ให้เงินจำเลยเป็นค่าวิ่งเต้นช่วยเหลือบุตรโจทก์ให้เข้ารับราชการโดยวิธีผิดกฎหมาย ต่อมาจำเลยไม่สามารถวิ่งเต้นให้เข้ารับราชการได้ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน สัญญากู้ยืมเงินจึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 จึงไม่สามารถแปลงหนี้ได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน

อายุความคดีกู้ยืมเงิน (ประมวลกฎหมายเเพ่งมาตรา 193/30, 193/33)

1 อายุความฟ้องเรียกเงินกู้ยืมทั่วไป มีกำหนด 10 ปี นับเเต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้อง

2 อายุความฟ้องเรียกเงินกู้ยืมที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวดๆ มีกำหนดเพียง 5 ปี

3 อายุความฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระ มีกำหนดเพียง 5 ปี

เเนวทางต่อสู้คดีกู้ยืมเงิน

1 สัญญาเงินกู้เป็นสัญญาปลอม

2 ต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบรูณ์ (ทำสํญญากู้ประกันหนี้อื่นในอนาคต)

3 ต่อสู้ว่าไม่ได้รับเงินกู้ หรือได้รับเงินไม่เต็มตามที่กู้

4 ต่อสู้ว่าเป็นนิติกรรมอำพราง

5 ต่อสู้ว่ามูลหนี้ตามสัญญาเงินกู้ เป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6 ต่อสู้ว่าเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมายกำหนด เเละชำระดอกเบี้ยท่วมเงินต้นเเล้ว

7 ต่อสู้ว่าเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมอื่น

8 ต่อสู้เรื่องอายุความ

 

เป็นโจทก์ฟ้องคดีกู้ยืมเงิน เเก้ต่างคดีกู้ยืมเงิน ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ โทร 098-8275510 

 

Visitors: 58,221