คดียักยอก ปรึกษา ทนายณัฐวุฒิ โทร 0988275510

ความผิด "ยักยอกทรัพย์" เป็นความผิดที่มีการพบบ่อยมาก ในการทำงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เช่นพนักงานเก็บเงิน พนักงานคลังสินค้า หรือการมอบหมายลักษณะตัวการ ตัวแทน หรือการฝากทรัพย์ ข้อเท็จจริงบางกรณีเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ บางครั้งเป็นความผิดทางแพ่ง สมควรที่ทนายความจะได้สอบข้อเท็จจริงให้กระจ่างก่อนตั้งรูปคดี

ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 352 วรรคแรก แยกองค์ประกอบได้ดังนี้

1. ผู้ใด

2. ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4. โดยทุจริต (องค์ประกอบภายใน) คือเจตนา

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์จุดที่เป็นประการสำคัญก็คือ ต้องพิจารณาว่าทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดหรือไม่ หากทรัพย์อยู่ในความครอบครองแล้วมีการเบียดบังโดยทุจริตก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานยักยอกทรัพย์

ความผิดฐานลักทรัพย์ vs ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มีความแตกต่างกันคือผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ครอบครองทรัพย์เพียงแต่เป็นการยึดถือแทนผู้อื่นและมีการเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต เช่น 

ลูกจ้างขับรถลักลอบสูบน้ำมันเบนซินไปจากถังน้ำมันของรถถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เพราะลูกจ้างยังไม่ได้ครอบครองน้ำมันแต่เป็นเพียงยึดถือแทน (ฎีกา 229/2510)

คนขับรถยนต์บรรทุก ร.ส.พ. เอาของที่บรรทุกในรถไปเป็นลักทรัพย์ (ฎีกา 2218/2521)

 

กรณีที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นความผิดยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 2282/2521 ผู้เสียหายให้จำเลยเช่าบ้านและบอกให้จำเลยช่วยดูแลทรัพย์สินในบ้านถือเป็นการมอบหมายให้จำเลยครอบครองทรัพย์ที่อยู่ในบ้านแทนผู้เสียหายแล้ว เมื่อจำเลยเอาทรัพย์นั้นไป การกระทำของจำเลยจึงต้องด้วยความผิดฐานยักยอก

การได้มาซึ่งความครอบครองอาจจะได้มาโดยกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

1. มีการมอบการครอบครองกันโดยตรงหรืออาจจะโดยปริยาย เช่น มีการมอบของให้ไปขาย (ฎีกา 1046/2491) ผู้รับของไปขายเป็นผู้ครอบครอง หรือมีการมอบเงินให้ไปชำระหนี้ ไปซื้อข้าวเปลือก ไปวางมัดจำ ไปเข้าบัญชีแล้วเบียดบัง เป็นความผิดฐานยักยอก (ฎีกา 1375/2515, 617/2536)

2. การส่งมอบ อาจจะพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเช่นสัญญาจำนำผู้รับจำนำย่อมเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ถ้าผู้รับจำนำเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยมีเจตนาทุจริตย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก หรือในกรณีที่มีการเช่าซื้อผู้เช่าซื้อยอมเป็นผู้ครอบครองหรือในกรณีที่มีการเช่าทรัพย์ถ้าผู้ที่เช่าทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปขายย่อมเป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาฎีกาที่ 6152/2540 ช.ทำสัญญาเช่ารถพิพาทกับผู้เสียหายโดยมีข้อสัญญาว่าผู้เช่าจะต้องใช้รถยนต์ที่เช่าภายในเขตจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่พฤติการณ์ที่ ช. ครอบครองรถที่เช่าแล้วจงใจไม่ส่งคืนเป็นเวลา 10 วัน โดยมิได้แจ้งเหตุที่ไม่ส่งรถคืนให้แก่ผู้เสียหายทราบ ทั้งได้ขับออกนอกเขตจังหวัดภูเก็ตไปไกลถึงอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ใกล้กับประเทศกัมพูชา จึงชี้ให้เห็นว่า ช. มีเจตนายักยอกทรัพย์แล้ว

ปฎิเสธไม่รู้ไม่เห็นไม่เคยรับฝาก ทั้งๆที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์ ก็เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาฎีกาที่ 455/2518 จำเลยทำสัญญาขายข้าวเปลือกซึ่งเก็บไว้ในยุ้งของ ส. ให้โจทก์ร่วม และทำสัญญารับฝากข้าวเปลือกจำนวนนั้นไว้จากโจทก์ร่วมจะนำไปส่งมอบให้ภายหลังดังนี้เห็นได้ว่าข้าวเปลือกได้โอนไปเป็นของโจทก์ร่วมแล้วเมื่อจำเลยรับฝากข้าวเปลือกของโจทก์ร่วมโดยเก็บไว้ในยุ้งที่จำเลยเช่าไว้ จึงเป็นผู้ครอบครองข้าวเปลือกซึ่งเป็นของโจทก์ร่วมเมื่อจำเลยขนเอาข้าวเปลือกไปเสียและปฏิเสธฝืนพยานหลักฐานว่าไม่มีข้าวเปลือกของจำเลยอยู่ในยุ้งดังกล่าว และจำเลยไม่เคยขายและรับฝากข้าวเปลือกจากโจทก์ร่วมเช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้เบียดบังเอาข้าวเปลือกของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์แม้ข้าวเปลือกจะเป็นสังกมะทรัพย์ซึ่งอาจใช้ข้าวประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากัน แทนกันได้แต่ก็มิใช่ว่าผู้รับฝากจะเอาไปเป็นประโยชน์สำหรับตนได้ทั้งๆ ที่ไม่มีสิทธิ การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

เช่าซื้อรถยนต์ ชำระเงินบางส่วนเเล้วไม่ชำระอีกเลย เเจ้งว่าขายไปแล้วไม่ส่งมอบรถคืนทั้งไม่ยอมบอกว่าขายให้ใคร เป็นความผิดฐานยักยอก 

คำพิพากษาฎีกาที่ 7727/2544 จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

ประเด็นยักยอกเช็ค มีได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2319/2539 จำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปส่งแก่ลูกค้าของโจทก์ได้รับเช็คชำระค่าสินค้าจำเลยควรส่งมอบเช็คแก่โจทก์แต่ไม่ส่งมอบกลับนำเช็คไปขายแล้วเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย.เงินที่จำเลยขายเช็คได้ไม่ใช่เงินของโจทก์เพราะโจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยเอาเช็คไปขายและมิใช่เงินที่จำเลยได้รับมอบจากธนาคารตามเช็คซึ่งอาจถือได้ว่ารับไว้แทนโจทก์แต่เป็นเงินของจำเลยเองจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินที่จำเลยนำเช็คไปขายได้มาคงมีความผิดฐานยักยอกเช็ค

ประเด็นยักยอกอสังหาริมทรัพย์ มีได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 268/2536 โจทก์ร่วมซื้อบ้าน เลขที่ 308 จากการขายทอดตลาด จำเลยเองก็ทราบ เมื่อจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็น บ้านเลขที่ 121 ของส. นั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

ประเด็นยักยอกสลากกินแบ่ง มีได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1330/2539 จำเลยที่1 ขอสลากกินแบ่งรัฐบาลจากโจทก์ไปตรวจกับผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำเลยที่2จดไว้แล้วไม่คืนให้โจทก์กลับนำไปมอบให้ธนาคารขอรับเงินรางวัลแทนและนำเงินมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่2และ ท. ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่2และมารดาจำเลยที่1ที่ธนาคารดังกล่าวอันเป็นการเบียดบังเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับพิพาทและเงินรางวัลที่ได้รับมาเป็นของตนและของบุคคลอื่นโดยทุจริตการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

 

 

เเนวทางการต่อสู้คดียักยอกทรัพย์

1. ประเด็นยังไม่ได้เข้าครอบทรัพย์ ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 6011/2531 โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากผู้มีชื่อโดยให้จำเลยลงชื่อรับโอนที่ดินและบ้านแทนโจทก์ แต่จำเลยมิได้เข้าไปครอบครองที่ดินและบ้านดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จำเลยจะโอนที่ดินและบ้านของโจทก์ให้ผู้อื่นไป การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

2. ประเด็นฝากเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ผู้รับฝากไม่ต้องคืนเงินอันเดียวกับที่ฝากเพียงแต่คืนเงินเท่ากับจำนวนที่ฝากไว้ กรรมสิทธิ์ในเงินที่ฝากได้โอนไปยังผู้รับฝากแล้วแม้จะเบียดบังไปโดยทุจริตก็ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 233/2504 ฝากเงินให้ช่วยเก็บรักษาไว้ ต่อมานานปีเศษขอเงินคืน แต่ผู้รับฝากคืนให้ไม่ได้โดยอ้างว่า ตัวเองและสามีได้เอาไปใช้จ่ายเสียหมดแล้ว ดังนี้ เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันทางแพ่ง ไม่เป็นผิดอาญาฐานยักยอก

3. ประเด็น มอบของให้ไปขายในลักษณะขายเชื่อ ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 6035/2531 โจทก์ร่วมมอบสร้อยคอทองคำให้จำเลยไปขาย จำเลยจะขายได้ราคาสูงเท่าใดก็เป็นเรื่องของจำเลย แต่จำเลยต้องนำเงิน 3,500 บาทมาคืนให้โจทก์ร่วม ดังนี้ กรณีมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายสร้อยไว้แทนโจทก์ร่วม แต่เป็นการขายเชื่อสร้อยคอทองคำให้จำเลย เมื่อจำเลยไม่คืนหรือชำระราคาสร้อยคอทองคำให้โจทก์ก็เป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาฎีกาที่ 4932/2543 โจทก์ร่วมและจำเลยค้าขายเพชรด้วยกัน และโจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลย การที่โจทก์ร่วมมอบแหวนเพชรให้จำเลยไปจำหน่าย จำเลยจะต้องนำเงินมาชำระค่าแหวนเพชรตามที่ได้ตกลงกัน กรณีมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับแหวนเพชรไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่โจทก์ร่วมให้นำไปจำหน่ายแม้เมื่อถึงกำหนดชำระราคาจำเลยไม่นำเงินไปชำระให้โจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง จึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ถึงแม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

4. ประเด็น มอบของให้ไปในลักษณะซื้อขายเผื่อชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 508  ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3889/2548 จำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อจะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ถ้าครบกำหนด 14 วัน แล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืน ย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบมีผลบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากไม่ชำระผู้เสียหายต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

5. ประเด็น ยืมใช้สิ้นเปลืองตาม ป.พ.พ. มาตรา 650  กรรมสิทธิ์โอน ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 1250/2530 จำเลยเอาน้ำมันดีเซลไปจากโจทก์ 4 ครั้งรวมจำนวน 5,026.45 ลิตรคิดราคาเป็นเงิน 35,738.06 บาท โดยสัญญาว่าจะนำมาคืนให้ภายในเวลาที่กำหนด เป็นเรื่องการยืมใช้สิ้นเปลืองในทางแพ่งกรรมสิทธิ์ในน้ำมันเป็นของจำเลยแล้ว แม้จำเลยไม่คืนให้ตามกำหนด การกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

6. ประเด็น ขาดอายุความ คดียักยอกทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ป.อ.มาตรา 96

คำพิพากษาฎีกาที่ 2319/2529 จำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปส่งแก่ลูกค้าของโจทก์ ได้รับเช็คชำระค่าสินค้าจำเลยควรส่งมอบเช็คแก่โจทก์แต่ไม่ส่งมอบ กลับนำเช็คไปขายแล้วเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย. เงินที่จำเลยขายเช็คได้ไม่ใช่เงินของโจทก์เพราะโจทก์มิได้มอบหมายให้จำเลยเอาเช็คไปขายและมิใช่เงินที่จำเลยได้รับมอบจากธนาคารตามเช็คซึ่งอาจถือได้ว่ารับไว้แทนโจทก์ แต่เป็นเงินของจำเลยเองจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินที่จำเลยนำเช็คไปขายได้มา คงมีความผิดฐานยักยอกเช็คแต่โจทก์มิได้ฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่จำเลยยักยอกเช็ค คดีขาดอายุความ

คำพิพากษาฎีกาที่ 268/2536 โจทก์ร่วมซื้อบ้าน เลขที่ 308 จากการขายทอดตลาด จำเลยเองก็ทราบ เมื่อจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็น บ้านเลขที่ 121 ของส. นั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 โจทก์ร่วมจะไปรื้อถอนบ้านครั้งแรกวันที่ 28 เมษายน 2527จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 คดีจึงขาดอายุความ เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตาม มาตรา 43

 

 

เป็นโจทก์ฟ้อง คดียักยอกทรัพย์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลย

ถูกเเจ้งข้อกล่าวหาชั้นพนักงานสอบสวน

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

 

Visitors: 58,210