คดีฉ้อโกง ปรึกษา ทนายณัฐวุฒิ โทร 0988275510

ฉ้อโกง การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการหลอกลวงด้วยการเเสดงข้อความอันเป็นเท็จ กับอีกส่วนหนึ่งคือการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้เเจ้ง เเละโดยการหลอกลวงนี้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือจากบุคคลที่สาม

คำว่า "ข้อความอันเป็นเท็จ" เเสดงว่าผู้กระทำความผิดต้องเข้าใจอยู่ในตัวว่าในขณะนั้นความจริงเป็นเช่นไร! เเละได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงบิดเบือนไปจึงเป็นความเท็จ ดังนั้นข้อความเท็จจะต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน ถ้าเป็นเหตุการในอนาคตเเล้วยังไม่ทราบว่าจริงเป็นอย่างไรเท็จเป็นอย่างไร จึงเกิดหลักการที่ว่าการกล่าวข้อเท็จจริงใดถ้าเป็นการให้คำมั่นหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตเเล้วไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

กรณีไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ 3784/2532

จำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายจ่ายเงินค่าข้าวโพดให้จำเลยล่วงหน้าบางส่วน ครั้นผู้เสียไปขอรับมอบข้าวโพดปรากฎว่าข้าวโพดได้หายไปจากเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง จำเลยบอกว่าไม่ขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายและไม่ยอมให้นำข้าวโพดไป ผู้เสียหายทวงเงินคืน จำเลยบอกว่าไม่มีเงินคืนให้เช่นนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยจะขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายแล้วเปลี่ยนใจไม่ยอมขายข้าวโพดที่มีอยู่จริงในขณะเจรจาตกลงซื้อขายกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาทางเเพ่งเท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

กรณีเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ 706/2539

จำเลยที่2กับพวกคงมีแต่สำเนานส.3กที่ถ่ายมาจากที่ทางราชการเก็บรักษาไว้เท่านั้น โดยยังมิได้มีการรวบรวมซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อนำมาขายให้โจทก์ร่วม ดังนั้นแม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจะระบุข้อความในอนาคตว่า จำเลยกับพวกจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ซื้อขายภายใน1ถึง3เดือนนับแต่โจทก์ร่วมชำระมัดจำครบ แต่ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวมีความว่า ขณะทำสัญญาจำเลยกับพวกมีสิทธิในที่ดินที่จะนำมาขายให้โจทก์ร่วมเป็นการแสดงข้อความในปัจจุบันอยู่ด้วย เมื่อข้อความดังกล่าวเป็นเท็จโดยความจริงจำเลยกับพวกมิได้ตั้งใจจะขายสิทธิในที่ดินให้โจทก์ร่วมโจทก์ร่วมหลงเชื่อจำเลยกับพวกในการแสดงข้อความเท็จและจ่ายเงินมัดจำให้ไปการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5401/2542

การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดด้วยการแสดงข้อความอัน เป็นเท็จว่าจำเลยทั้งสองสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดไปทำงานใน ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เป็นงานที่มีรายได้ เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดเดินทางไปถึงแล้วสามารถทำงานได้ทันที โดยจำเลยทั้งสองปกปิดข้อความจริงว่าจำเลยทั้งสอง ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหาคนงานไปทำงานในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จาก นายทะเบียนจัดหางานกลางจากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ด หลงเชื่อและมอบเงินจำนวนต่าง ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสอง ดังนั้น การกระทำของ จำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ผิดเฉพาะสัญญาทางแพ่งแต่อย่างใด 

คำพิพากษาฎีกาที่ 394/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสารจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง 

ใช้โฉนดซึ่งถูกเพิกถอนเเล้วให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ความพิพากษาฎีกาที่ 8396/2544

จำเลยทั้งสองขอกู้ยืมเงินโจทก์โดยใช้โฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกเพิกถอนแล้วให้ยึดถือเป็นประกัน โดยจำเลยทั้งสองปกปิดข้อเท็จจริงนี้ไว้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดจำเลยทั้งสองเสนอใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวชำระแทนเงินกู้ โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียน จำเลยที่ 2ทำหนังสือให้ความยินยอม ทั้งที่โฉนดที่ดินนั้นถูกเพิกถอนเพราะที่ดินตามโฉนดที่ดินถูกขายทอดตลาดและเจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่แล้ว เป็นเหตุให้โจทก์คืนหนังสือสัญญากู้ให้แก่จำเลย ดังนี้การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงจนโจทก์หลงเชื่อและได้เงินจากโจทก์ไปจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 342 ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ

(1) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ

(2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็ก หรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

      ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา 342 อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

อายุความคดีฉ้อโกง

ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์(เเจ้งความ)หรือต้องฟ้องคดีภายใน 3 เดือนนับเเต่วันที่รู้เรื่องความผิดเเละรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความในทางอาญา

หากร้องทุกข์อย่างถูกต้องตามกฎหมายเเล้วต้องนำจำเลยฟ้องต่อศาลภายในอายุความ 10 ปี นับเเต่วันที่กระทำความผิด

ข้อต่อสู้คดีฉ้อโกง

1 คดีขาดอายุความ เนื่องจากไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน

คำพิพากษาศาลฎีกา 6473/2538

โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดที่ถูกฉ้อโกงและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าจำเลยเป็นคนฉ้อโกงตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2533 แล้วแต่เพิ่งมาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 ซึ่งเกิน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามป.วิ.อาญา มาตรา 39 (6) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกา 2040/2535

หลังจากจำเลยนำเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์แล้ว จำเลยไม่ไปขายของและไม่นำดอกเบี้ยไปจ่ายให้โจทก์ โจทก์เข้าใจว่าจำเลยหลบหนีและฉ้อโกง วันที่ 6 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนและมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย แสดงว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดมาตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้ว ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความกันได้ โจทก์มิได้ร้องทุกข์ แต่มาฟ้องคดี

เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

2 จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกา 151-152/2537

ในขณะที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าที่ดินจะถูกเวนคืน เพียงแต่จำเลยทั้งสองพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใด ๆ เท่านั้น ทั้งโจทก์ในฐานะผู้จะซื้อที่ดินจากจำเลยทั้งสองก็มีหน้าที่ต้องระวังอยู่แล้ว การเวนคืนถึงหากจะมีก็ยังไม่เป็นการแน่นอน ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขาย พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยทั้งสองไม่อาจทราบได้ว่าจะมีการเวนคืนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ดินที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนโดยทุจริตแต่อย่างใดจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

3 จำเลยไม่ได้ทรัพย์สิน หรือสิ่งที่ได้ไปไม่ใช่ทรัพย์สินในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกา 3667/2542

จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ. มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ. คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมรับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่ แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรมหาใช่เนื่องจากจำเลยทั้งสองหลอกลวงไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกา 1733/2516

การที่จำเลยหลอกลวงให้ผู้เสียหายรับจ้างทำการขนส่งให้จำเลยแล้วไม่ชำระค่าขนส่งที่ตกลงไว้ว่าจะชำระให้นั้น จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหายไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ความเห็นเพิ่มเติมจากทนายความ หากผู้เสียหายคิดค่าขนส่งเป็นที่่เเน่นอนเเล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องทางเเพ่งจากจำเลยได้

4 ต่อสู้ว่าผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกา 6969/2555

จำเลยพูดหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 เท่านั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 2 หรือเจตนาให้ได้ทรัพย์สินจากโจทก์ร่วมที่ 2 การที่โจทก์ร่วมที่ 2 รับฟังเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและประสงค์ร่วมลงทุนกับโจทก์ร่วมที่ 1 ด้วย โดยโอนเงินผ่านธนาคารเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของจำเลยต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้

5 ต่อสู้ว่าผู้เสียหาย ไม่ใช่ผู้เสียหาย กรณีนิติบุคคล เนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท (กรณีบริษัท ทนายความควรตั้งประเด็นนี้ไว้ด้วย)

คำพิพากษาศาลฎีกา 8488/2556

ในการจดทะเบียนเพิ่มโจทก์เป็นกรรมการคนใหม่ของบริษัทตามคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด มิได้มีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติตามข้อบังคับของบริษัทแต่อย่างใด ดังนี้ การเป็นกรรมการของโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

6 ต่อสู้ว่าเป็นการผิดสัญญาทางเเพ่งเท่านั้น เช่นสัญญาเช่าซื้อ สัญญาจำนอง สัญญาจะซื้อจะขาย

คำพิพากษาศาลฎีกา 1429/2555

จำเลยกับพวกติดต่อขอซื้อรถกระบะจากผู้เสียหายในราคา 430,000 บาท ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 150,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน จ. ในวันดังกล่าวจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ไม่ได้กรอกข้อความไว้พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้เสียหาย แล้วพนักงานของบริษัทเงินทุน จ. นำสัญญาเช่าซื้อที่ยังไม่ได้กรอกรายละเอียดให้จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าซื้อไว้ จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์มาตั้งแต่ต้น การที่บริษัทเงินทุน จ. ยกเลิกการเช่าซื้อในเวลาต่อมาเนื่องจากจำเลยไม่นำรถไปตรวจสภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้เสียหายส่งมอบรถกระบะแล้ว มิได้เกิดจากการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การที่จำเลยมิได้ชำระราคาเช่าซื้อส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกา 6845/2540

การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 4 แปลง ก็เพื่อจะเอาค่าเช่าจากจำเลย อันเป็นความสมัครใจในการให้เช่า ดังนั้น การที่จำเลยได้เงินจากผู้เสียหายทั้งสี่จึงเป็นไปตามข้อตกลงมิใช่เป็นการหลอกลวง ส่วนที่จำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองให้เมื่อครบกำหนดเวลาเช่าก็เป็นเพียงการผิดสัญญา ซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไปการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกา 1674-1675/2543

การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้จะขายหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญาไม่ เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น
ผู้เสียหายทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยแล้วว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญากันยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น จำเลยมิได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างจำเลยกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทำให้จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้เสียหายได้ จำเลยเพียงแต่ยังไม่มีเงินคืนให้ผู้เสียหายได้ตามที่เรียกร้องและผู้เสียหายไม่ยอมเปลี่ยนไปเอาที่ดินในโครงการอื่นของจำเลยตามที่จำเลยเสนอให้การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่ การที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินและบ้าน ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานจะดำเนินการแก่จำเลยเอง ไม่อาจนำมาเกี่ยวข้องในการวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกงได้

 

 

เป็นโจทก์ฟ้อง คดีฉ้อโกง หรือถูกฟ้องเป็นจำเลย

ถูกเเจ้งข้อกล่าวหาชั้นพนักงานสอบสวน

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

 

 

 

 

Visitors: 63,729