ฟ้องหย่า ปรึกษา ทนายณัฐวุฒิ โทร 0988275510

การฟ้องหย่าทั่วไป

การสิ้นสุดการสมรส

1 ตาย

2 ศาลพิพากษาให้เพิกถอน เนื่องจากการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ

3 โดยการหย่า ซึ่งทำได้ 2 วิธี

 3.1 โดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยการทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน การหย่าต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต

 3.2 คำพิพากษาของศาล ต้องมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายด้วย

 

เหตุที่จะฟ้องหย่ามี 12 ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ดังนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้

(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

มาตรา 1517 เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่านั้นไม่ได้

เหตุฟ้องหย่าตาม มาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

    ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตาม มาตรา 1516 (8) นั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บน เป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฏีกา ที่เกี่ยวข้อง

 

กรณีวินิจฉัยว่ามีเหตุฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5989/2538 

    จำเลยเป็นข้าราชการระดับ 3 เที่ยวเตร่หญิงบริการ และให้เพื่อนถ่ายภาพลามกอนาจารที่ตนทำกับหญิงอนาจารออกเผยแพร่ นอกจากจะทำให้คนที่เห็นภาพนี้ดูถูกเหยียดหยามตัวจำเลยเองแล้ว ยังทำให้คนที่เห็นภาพนี้นึกถึงโจทก์ซึ่งเป็นภริยาจำเลยในลักษณะที่น่าอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรงและดูถูกเกลียดชังด้วย การกระทำของจำเลยเป็นการประพฤติชั่ว ฟ้องหย่าได้ตาม มาตรา 1516 (2) (ก) และ (ข)

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2692/2524

    โจทก์จำเลยแต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากัน จำเลยออกจากบ้านโจทก์ไปอยู่กับมารดา ไม่ยอมอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ เป็นการไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อคำนึงถึงสภาพฐานะความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์เดือดร้อนเกินควร เข้าเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2141/2531

  จำเลยชอบเล่นการพนันมานาน โจทก์ห้ามปรามก็ไม่เชื่อบางครั้งนำทรัพย์สินภายในบ้านไปจำนำเอาเงินไปเล่นการพนันจำเลยเคยถูกจับฐานเล่นการพนันถูกดำเนินคดีจนศาลพิพากษาลงโทษก็ยังไม่เลิก โจทก์เป็นตำรวจต้องถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปตักเตือนว่าหากไม่ห้ามให้จำเลยเลิกเล่น จะย้ายโจทก์ โจทก์ต้องเลี้ยงดูทั้งครอบครัว เมื่อจำเลยเล่นการพนันเสียบางครั้งเงินก็ไม่พอใช้จ่ายพฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประพฤติชั่วเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ โจทก์จึงฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2)(ก)และ(ค) 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1644/2537

   จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปีโจทก์จึงมีสิทธิ์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4) ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมา และได้เลิกยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่นแล้ว ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยสิ้นไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 369/2523

    จำเลยมิได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์มาถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วโดยจำเลยมีสามีใหม่และอยู่กินกับสามีใหม่ตลอดมาจนขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าว นอกจากจะเป็นเหตุหย่าในเหตุอื่นเช่นมีชู้จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี เป็นต้นแล้วยังเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงอีกด้วย และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องตลอดมาทุกวัน คดีจึงไม่ขาดอายุความ  

ผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือ ฟ้องหย่าได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2553/2526

   ก่อนจดทะเบียนสมรสโจทก์จำเลยทำสัญญากันว่า 'ฝ่ายภรรยาจะไม่ประพฤติตัวให้ผิดจารีตประเพณีและให้อยู่กินปรนนิบัติในฐานะให้เป็นสามีภรรยาอยู่กินร่วมกันตลอดไปและจะไม่ประพฤติปฏิบัตินอกใจสามีอีกต่อไป เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้กระทำผิดพลาดเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมให้ปรับเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท' สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอย่างหนึ่งมีลักษณะเป็นทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติของภรรยาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(8) ซึ่งเป็นเหตุให้สามีฟ้องหย่าภรรยาได้ หากผิดทัณฑ์บนที่ทำกันเป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ และไม่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดีหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในส่วนบุคคล ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายใด ๆ อีกทั้งมิได้เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน   

 

กรณีวินิจฉัยว่าไม่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3520/2536

     การที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแรกในปี 2529 แล้วโจทก์ย้ายออกจากบ้านของจำเลยที่เคยอยู่กินร่วมกันมาแต่แรกนานถึง8 ปีเศษ จึงเป็นการที่โจทก์ละทิ้งร้างจำเลยไปเอง เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายละทิ้งร้างจำเลยไปเช่นนี้ โจทก์จะอาศัยเหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์จะให้จำเลยย้ายไปอยู่กับโจทก์ที่บ้านซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยอยู่ร่วมกันมาก่อนมาเป็นเหตุฟ้องหย่า โดยอ้างว่าจำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1761/2534

   การที่จำเลยร้องเรียนกล่าวโทษโจทก์ต่อผู้บังคับบัญชาว่าโจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันเป็นเหตุให้โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยนั้น เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ย่อมมีความชอบธรรม ที่จะป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์กับหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ต่อกันอันเป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดร้อนได้ การกระทำของจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516(2).    

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1932/2536

   จำเลยเคยขอให้โจทก์หาที่พักต่างหากจากที่อาศัยอยู่กับเพื่อนในค่ายทหารที่จังหวัดนครพนม แต่โจทก์ไม่ดำเนินการใด ฉะนั้นการที่จำเลยยังคงทำงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจึงเป็นเพราะโจทก์ไม่ขวนขวายหาที่พักอันเหมาะสม เพื่อโจทก์จำเลยจะได้อยู่ร่วมกันส่อเจตนาว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยไปอยู่ร่วมกัน กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7004/2539

   โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้วได้อยู่กินด้วยกันที่บ้านเลขที่ 611 แสดงว่าบ้านเลขที่ 611 ดังกล่าวเป็นบ้านที่โจทก์และจำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยกินอยู่หลับนอนฉันสามีภริยา ซึ่งต่อมาก็มีบุตรด้วยกัน 1 คนแม้ในระหว่างอยู่กินด้วยกันโจทก์ต้องเดินทางไปรับราชการในต่างจังหวัดและบางครั้งโจทก์และจำเลยได้ทะเลาะกันก็ตาม โจทก์ก็ต้องกลับมากินอยู่หลับนอนฉันสามีภริยากับจำเลยเช่นปกติที่สามีภริยาพึงต้องปฏิบัติต่อกัน แต่โจทก์กลับไปมีภริยาใหม่และไปอยู่กับภริยาใหม่ ถือว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยไม่ได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ การที่โจทก์ได้ส่งเงินให้บุตรและจำเลยไม่ได้ไปมาหาสู่ร่วมอยู่กินหลับนอนกับโจทก์ฉันสามีภริยามิใช่พฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีที่สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2)   

 

ผลการหย่าต่อบุคคลภายนอก     

    การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยทั่วไปไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า แต่หากคู่หย่าต้องการใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าด้วย

    เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว บุคคลภายนอกจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าจะทำนิติกรรมกับคู่หย่าโดยสุจริตก็ตาม กรณีมีสัญญาประนีประนอมยอมความให้บันทึไว้ในท้ายทะเบียนการหย่าด้วย

 

ประเด็น ทรัพย์สินของสามี ภรรยา

สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส เป็นต้น

(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลหรือกำไรสุทธิของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เป็นต้น

    ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

สินส่วนตัว ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น

(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา

(4) ที่เป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง

 

การหย่ากับการแบ่งสินสมรส

    ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่าๆกัน

    หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป

    หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือจากสินส่วนตัวก็ได้

มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 750/2500 การแบ่งทรัพย์ เมื่อสามีภรรยาหย่าขาดจากการมีอายุความ 10 ปี

 

ประเด็น ค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพ ระหว่างคู่สมรส

ค่าทดแทนกับการหย่า

    เป็นเงินที่จำเลยในคดีฟ้องหย่าจ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่คู่สมรสฝ่ายโจทก์ ได้แก่ กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตาม มาตรา 1516(1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณีได้ หากตนมิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1)

    นอกจากนี้ ถ้าเหตุแห่งการหย่าตาม มาตรา 1516 (3) (4) หรือ (6) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

    การกำหนดค่าทดแทนศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้

ค่าเลี้ยงชีพกับการหย่า

    เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเมื่อมีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่ การฟ้องหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสที่ถูกฟ้อง หากการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสคู่สมรสที่เป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดในคดีหย่าจะต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งค่าเลี้ยงชีพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภายหลังได้แล้วแต่พฤติการณ์ ทั้งนี้ค่าเลี้ยงชีพมีลักษณะเฉพาะตัว สิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละ หรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

มาตรา 1526  ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

     สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 750/2500 

    การที่บิดามารดาจำเลยไปแจ้งความต่อตำรวจกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์แม้จะมิใช่เหตุที่โจทก์จะยกขึ้นอ้าง เพื่อฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยก็ตามแต่การที่จำเลยนำตำรวจไปจับกุมโจทก์ตามข้อกล่าวหาของบิดามารดานั้น การกระทำของจำเลยย่อมถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของโจทก์ อันเป็นการหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 (3)
โจทก์เพิ่งจะหางานทำได้หลังจากที่แยกกันอยู่กับจำเลยจึงติดใจขอค่าเลี้ยงชีพจากจำเลย จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น กรณีถือได้ว่าการหย่าทำให้โจทก์ยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากการงานตามที่เคยทำอยู่ในระหว่างสมรส เมื่อเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 1371/2545 หย่าเพราะความผิดของสามีฝ่ายเดียว สามีฐานะการเงินดีกว่าภริยา ให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ภริยาเดือนละ 5,000 บาท

ประเด็นไม่ฟ้องหย่า แต่ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 4959/2552 

     ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสองและมาตรา 1598/38 เป็นบทบัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สามีหรือภริยาโดยให้ฝ่ายที่มีฐานะดีช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามฐานะและความสามารถ ถ้าฝ่ายหนึ่งมีความสามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูแล้วไม่อุปการะเลี้ยงดู อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (6) แต่ถ้าไม่ประสงค์จะฟ้องหย่า ก็ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1598/38 ในเมื่ออีกฝ่ายที่ควรได้รับไม่ได้รับการเลี้ยงดูตามอัตภาพมิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นเมื่อฟ้องหย่า
หลังจากจดทะเบียนสมรส โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันที่บ้านบิดาของโจทก์ แม้จำเลยไปรับราชการต่างจังหวัดก็กลับมาบ้านดังกล่าวที่โจทก์อยู่กับบุตร โจทก์เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ เหตุที่โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2539 ก็เนื่องจากจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ ที่สำคัญจำเลยไปอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาตลอดมา การสมัครใจแยกกันอยู่จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยซึ่งอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตลอดมาและอยู่ในฐานะที่สามารถอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้ จึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีความสามารถหรือฐานะน้อยกว่าและแยกไปอยู่โดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย

 

ประเด็น บุตรผู้เยาว์

การใช้อำนาจปกครองบุตร
    ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยคำนึงถึงความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ และกฎหมายตาม มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส หากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้ เช่น ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ เป็นต้น 

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 6471/2548 ปัญหาเรื่องใครจะอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์หลังการหย่าแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ (มาตรา 1520 วรรคสอง และ 1522 วรรคสอง) 

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร 

    ศาลมีอำนาจกำหนดว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยพิจารณาจากความสามารถทางการเงินของทั้งสองฝ่าย แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

    ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใหม่ภายหลังก็ได้หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู นั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี

ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะได้

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 248/2542

ส่วนแบ่งในสินสมรสของจำเลยเป็นเหตุคนละส่วนกับหน้าที่ของบิดามารดาตามกฎหมายที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุที่จำเลยมิได้ขอแบ่งสินสมรสจากโจทก์มาเป็นข้ออ้างว่าไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ เมื่อโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์คนละ 10,000 บาท ในแต่ละภาคเรียน และตามความเป็นจริงนอกจากค่าใช้จ่ายในการศึกษาแล้วยังจะต้องคำนึงถึงค่าอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ ในการครองชีพและการดำรงอยู่ในสังคมตามวัยและความเจริญเติบโต ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อไปในอนาคตจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ ประกอบด้วยตามสมควร โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำมีเงินเดือน เดือนละ 6,590 บาท ในขณะที่จำเลยรับราชการมีเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท และจะเพิ่มมากขึ้นต่อไป ในแต่ละปี และยังมีรายได้พิเศษส่วนหนึ่งจากการเล่นดนตรี จึงมีรายได้มากกว่าโจทก์แม้จำเลยจะอ้างว่าตนต้องผ่อนชำระหนี้ ส่วนหนึ่งนั้น ก็เป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยและเป็น เหตุเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นมา เป็นข้ออ้างได้ การที่ศาลกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู แก่ผู้เยาว์ทั้งสองในชั้นประถมศึกษาคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ชั้นมัธยมศึกษาคนละ 3,000 บาทต่อเดือน และชั้นอุดมศึกษา คนละ 4,000 บาทต่อเดือน จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะ บรรลุนิติภาวะจึงเหมาะสมแก่สภาพและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีอายุความ 5 ปี นับแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระไป

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2697/2548 

      มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์อันมีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้นย่อมจะต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 296 โจทก์จำเลยได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยตกลงให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ แต่มิได้ตกลงว่าโจทก์ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ฝ่ายเดียวจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ที่ได้ออกไปก่อน นับแต่วันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะจากจำเลย เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้นตามมาตรา 229 (3) แม้ขณะยื่นฟ้องนั้นบุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรสมควรจะเป็นจำนวนเท่าใด ศาลมีอำนาจกำหนดตามมาตรา 1522

      การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ 5 ปีนับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียว ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไปซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/33 (4) ประกอบมาตรา 193/12

 

สิทธิในการติดต่อบุตร

    คู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีอำนาจปกครองหลังจากศาลมีคำพิพากษาให้หย่าย่อมมีสิทธิติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ตามมาตรา 1584/1

 

เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้อง

1 ใบสำคัญการสมรส 

2 ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว

3 ทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชนสามีภริยา 

4 หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน รายการจดทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น

5 สูติบัตรบุตร (ถ้ามี)

6 หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)

7 บันทึกข้อตกลงการหย่า (ถ้ามี)

 

ค่าธรรมเนียมศาล

1 ค่าขึ้นศาล กรณีฟ้องหย่า อำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะลี้ยงดูบุตร คดีละ 200 บาท

2 ค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท

3 ค่านำส่งหมายเรียกจำเลย 300 - 700 บาท

4 ค่าปิดประกาศหนังสือพิมพ์ 500 บาท

5 คดีที่มีทุนทรัพย์ แบ่งสินสมรส เสียค่าขึ้นศาลร้อยละ 2 ไม่เกิน 300,000 บาท เสีย 1,000 บาท

  

เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหย่า หรือถูกฟ้องเป็นจำเลย

แบ่งสินสมรส เรียกค่าเลี้ยงดู อำนาจปกครองบุตร 

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

Visitors: 64,440