เมื่อท่าน ตกเป็นผู้ต้องหา หรือ จำเลย

"ผู้ต้องหา" หรือ "จำเลย" ในคดีอาญาเป็นสถานะของบุคคลในขั้นตอนของกระบวนการในการดำเนินคดีอาญาซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดพึงปรารถนา เเต่หากต้องตกอยู่ในสถานะดังกล่าว สิ่งที่ควรจะต้องทราบ เเละควรกระทำมีอย่างไรบ้าง สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้คือ "สิทธิของ ผู้ต้องหา หรือ จำเลย" 

ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ให้นิยามของคำว่า "ผู้ต้องหา" เเละ "จำเลย" ไว้ว่า

"ผู้ต้องหา" หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล มาตรา 2 (2)

"จำเลย" หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดย ข้อหาว่าได้กระทำความผิด มาตรา 2 (3)

กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อตำรวจได้เเจ้งข้อหาว่าท่านได้กระทำความผิดในคดีอาญา ท่านจะอยู่ในฐานะ "ผู้ต้องหา" ทันที สิทธิของท่านตามกฎหมายที่จะได้รับการปฎิบัติในฐานะ "ผู้ต้องหา" จึงเกิดขึ้น ส่วน "จำเลย" ก็คือเมื่อท่านถูกนำตัวไปฟ้องต่อศาลเเล้วนั่นเอง เมื่อท่านอยู่ในฐานะ "ผู้ต้องหา" หรือ "จำเลย" ท่านจะมีสิทธิดังนี้

สิทธิของผู้ต้องหา

1. สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ ท่านจึงมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้บริสุทธิ์ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 33)

2. สิทธิที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟัง และมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น ( ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 (1) )

3. สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนโดยไม่ชักช้า โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย เเละพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา มิใช่มุ่งหาความผิดเพียงอย่างเดียว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130, 131)

4. สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง

5. สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอาจทำให้ตนเองถูกฟ้องคดี (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 243 วรรคแรก)

6. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวในกรณีที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90)

7. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำขอประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาอย่างรวดเร็ว และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรไม่ได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามกฎหมายและต้องแจ้งเหตุให้ทราบโดยเร็ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 ถึง 114)

สิทธิของจำเลย

1. สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
(2) แต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
(3) ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(4) ตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
(5) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
(6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
ถ้าจำเลยมีทนายความ ทนายความนั้นย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยดังกล่าวมาแล้วด้วย
เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิตามวรรคหนึ่ง (6) เช่นเดียวกับจำเลยด้วย

2. สิทธิที่จะขอให้ศาลกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐาน เเละตรวจดูหรือคัดสำเนาพยานหลักฐานนั้น เว้นเเต่เป็นบันทึกคำให้การของพยาน (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173/1, 173/2, 240 เเละ 242)

นี้เป็นการรวบรวมเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเมื่อต้องตกอยู่ในสถานะดังกล่าว เเต่ในทางปฎิบัติขอเเนะนำให้หาญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว เเต่หากต้องการความสะดวกก็ปรึกษาทนายความให้ทำหน้าที่ได้ ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย

 

ถูกเเจ้งข้อกล่าวหา ถูกจับกุม ประกันตัว เข้าพบพนักงานสอบสวน

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

 

Visitors: 62,091